เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนต้องทำอย่างไร..?

252 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนต้องทำอย่างไร..?

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน ไม่ว่าเราจะเป็นคนขับ
ผู้โดยสารหรือผู้เห็นเหตุการณ์ เราควรปฎิบัติอย่างไร..?

กรณีเป็นผู้เห็นเหตุการณ์
ควรเข้าช่วยเหลือคนป่วยเจ็บตามสมควร และเราจะต้องแสดงตัวเป็นพลเมืองดี โดยยินดีที่จะเป็นพยานในคดีให้ สมมุติว่าเราเห็นรถคันหนึ่งชนคนแล้วหนี สิ่งที่เราควรช่วยหลือจับกุมคนที่ทำผิดได้ก็คือ พยายามจดทะเบียนรถ ชื่อยี่ห้อ สีรถที่ชนไว้ได้แล้วรีบแจ้งให้ตำรวจทราบเพื่อติดตามจับกุมต่อไป มีพลเมืองดีบางท่านถึงกับขับรถตามจับคนขับที่ชนคนแล้วหนี  ได้คนประเภทนี้ควรได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม

กรณีท่านเป็นคนเจ็บเพราะรถชน
ท่านจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 1. สิ่งแรกคือท่านจะต้องขอร้องให้คนอื่น หรือตำรวจนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ที่สุดเพื่อช่วยชีวิตเขาไว้ก่อน ส่วนเรื่องคดีนั้นเอาไว้พิจารณาภายหลัง แต่ถ้าเจ็บเล็กน้อยพอยอมความได้ก็ยอมเสีย เพื่อมิให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ แต่จะต้อง พยายามขอชื่อหรือจำทะเบียนรถคันที่ชนเราไว้ให้ได้ เพราะถ้าหากผู้ขับขี่เบี้ยวเราภายหลัง เราจะได้จัดการเรียกค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วจะไม่รู้ว่าจะไปฟ้องร้องเขาจากใคร ที่ไหน
 
กรณีท่านเป็นคนขับ
ถ้าท่านเป็นคนขับรถชนกัน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ อย่าหนีเป็นอันขาด เพราะความผิดฐานขับรถประมาทนั้น ไม่ใช่ เรื่องเจตนา ผู้กระทำผิดไม่ใช่อาชญากร โทษก็ไม่มากมายอะไร        ควรจะอยู่เพื่อต่อสู้กับความจริง มิฉะนั้นท่านจะต้องหลบหนี นานถึง 15 ปี ถ้าท่านขับรถชนคนตาย แต่ถ้าท่านมอบตัวสู้คดี บางทีท่านก็ไม่มีความผิด หรือมีความผิดศาลก็ปรานีลดโทษให้ถ้าท่านเป็นคนดีมีน้ำใจ

หน้าที่ของคนขับรถเมื่อเกิดรถชนกันนั้น กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้

  • ต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เช่น ขับรถชนคนก็ต้องหยุดรถ ช่วยเหลือคนที่ถูกชน นำส่งโรงพยาบาลเท่าที่จะทำได้
  • ต้องไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที คือต้องรีบไปแจ้งตำรวจที่ใกล้เคียงทันที แต่ต้องบอกตำรวจด้วยว่าเราเป็นคนขับรถอะไร
  • แจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่หมายเลขทะเบียนรถ แก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
  • ถ้าผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กฎหมายให้สันนิฐานว่าเป็นผู้กระทำผิด และตำรวจมีอำนาจยึดรถที่ขับไว้จนกว่าจะได้ตัวผู้ขับขี่หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
  • ถ้าคนขับคนใดไม่ปฏิบัติตามข้อ ( 1), (2) และ (3) แล้วจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าคนที่ถูกชนบาดเจ็บสาหัสหรือตาย ต้องจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
กรณีรถท่านมีประกันท่านตัองรีบติดต่อกับบริษัทประกันของท่านทันที
เพราะบริษัทประกันเขาจะมีเจ้าหน้าที่มาตามที่เกิดเหตุ พร้อมทำแผนที่เกิดเหตุไว้พร้อมมูลเพื่อเอาไว้ต่อสู้คดี
กรณีมีกล้องถ่ายรูปหรือหากล้องถ่ายรูปใกล้ที่เกิดเหตุได้ต้องรีบถ่ายรูปรถ และที่เกิดเหตุไว้ให้พร้อม
เพื่อจะได้เก็บไว้เป็นหลักฐานการต่อสู้คดีต่อไป และหากมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิปอเต็กตึ้งหรือมูลนิธิร่วมกตัญญูถ่ายภาพศพหรือที่เกิดเหตุไว้ ก็ให้ติดต่อขอภาพที่ถ่ายเก็บไว้ให้ได้            เพราะจะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีในภายหลัง

ควรช่วยเหลือคนเจ็บหรือค่าทำศพของผู้เสียชีวิต
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คนขับรถ มักไม่ค่อยเห็นประโยชน์ ของการช่วยเหลือเหล่านี้ ความจริงเมื่อเราขับรถชน คนตาย บาดเจ็บ หรือการขับรถโดยประมาทนั้น เรามีความผิดทั้งทางกฎหมายแพ่ง และอาญา

  • ทางอาญา เราอาจจะต้องรับโทษติดคุกติดตะราง
  • ทางแพ่ง เราจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่าบาดเจ็บ ค่าทำศพให้กับเขาอีก คือติดคุกแล้วยังจะต้องเสียเงินให้กับ ฝ่ายคนเจ็บ คนตายเขาอีก ทีนี้ถ้าหากเราช่วยเหลือคนเจ็บ        หรือใช้ค่าทำศพคนตายแล้วมีผลดียังไงตอบได้ว่ามีผลดีมากยกตัวอย่าง เช่น

- เราขับรถชนคนบาดเจ็บไปโรงพยาบาลต่อมาอัยการฟ้องเราต่อศาลเราก็แถลงต่อศาลว่าเราช่วยเหลือคนเจ็บ ส่งโรงพยาบาล ส่วนมาก ศาลจะเห็นว่า เราเป็นคนดีมี            น้ำใจศาลก็อาจจะรออาญาให้เราโดยไม่จำคุกเราแต่ถ้าเราชนแล้วหนีส่วนมากศาลมักจะจำคุกเราเลย เพราะเห็นว่าเราเป็นคนแล้งน้ำใจ

- การตกลงใช้ค่าเสียหายให้คนเจ็บก็มีประโยชน์มากยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่พยายามตกลงใช้ค่าเสียหายให้กับคนเจ็บ ตำรวจเขาจะมีระเบียบไว้ว่า ไม่ให้คืนรถของกลาง    ให้แก่ผู้ต้องหาจนกว่าผู้ต้องหาจะพยายามตกลงกับฝ่ายผู้เสียหาย และถ้าหาก เราชดใช้ค่าเสียหาย จ่ายค่าทำศพให้เขา คดีแพ่งก็ระงับ เพราะถือว่า ยอมความคดี             แพ่งกันแล้ว จะฟ้องเรียกค่าเสียหายเราในทางแพ่งไม่ได้อีกแล้ว และถ้าเราถูกฟ้อง คดีอาญาต่อศาล ผู้เสียหาย จะมาแถลงต่อศาลว่า เราได้ชดใช้ค่าเสียหายให้เขา         แล้ว ส่วนมากแล้ว ศาลจะปรานีจำเลย โดยตัดสินให้รออาญาแก่จำเลย เห็นหรือยังว่า การช่วยเหลือคนเจ็บและการมีน้ำใจนั้นดีอย่างไร (เครดิตข้อมูล:วิริยะประกันภัย)

|ตรวจสอบกรมธรรม์ พ.ร.บ. (สำหรับลูกค้าวิริยะประกันภัย)   |ตรวจสอบกรมธรรม์ ภาคสมัครใจ (สำหรับลูกค้าวิริยะประกันภัย) 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้