คปภ.แถลงข่าวมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

252 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คปภ แถลงข่าวเยียวยาแผ่นดินไหว

 
คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย แถลงมาตรการให้ความช่วยเหลือ-เยียวยา ด้านประกันภัยจากเหตุการณ์ "แผ่นดินไหว" และอาคาร สตง. ถล่ม >>อ้างอิงข้อมุล คปภ.

วันที่ 30 มีนาคม 2568  สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ร่วมจัดการแถลงข่าวเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ด้านประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว >>ที่มาข้อมูล MSN
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เปิดเผยเบื้องต้น ถึงกรณีสำนักงาน สตง. ถล่ม ว่าในช่วงเช้าวันเกิดเหตุได้ร่วมกับ 4 บริษัทประกันภัยไปดูที่เกิดเหตุ และเร่งดำเนินการในส่วนอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ได้ขอความร่วมมือ เพื่อจะขอทราบรายชื่อผู้สูญหาย และข้อมูลบัตรประชาชน หรือข้อมูลที่สามารถยืนยันตัวตนได้ และตั้งศูนย์การช่วยเหลือด้านประกันภัยขึ้น และมีเจ้าหน้าที่ประจำ ณ จุดเกิดเหตุ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบความเสียหายที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่ สำหรับภาพรวมการช่วยเหลือด้านประกันภัย คปภ. ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องราว และประสานงานกรณีผู้ทำประกันต้องการคำแนะนำ เช่นเดียวกับทั้งสองสมาคมที่ตั้งศูนย์ประสาน 24 ชั่วโมง

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา จนส่งผลกระทบต่อประเทศใกล้เคียง รวมถึงประเทศไทยบางส่วน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นั้น สมาคมประกันชีวิตไทยขอยืนยันว่าบริษัทประกันชีวิตได้มีการเตรียมพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉิน เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัย

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้บริการต่าง ๆ เช่น การเรียกร้องสินไหมทดแทน การเรียกร้องเคลมค่ารักษาพยาบาล และบริการอื่น ๆ ที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความสะดวกมากที่สุดภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งการใช้บริการขั้นต้นสามารถดำเนินการผ่านช่องทางในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนของบริษัท สาขา ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ Call Center ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ แชตบอท เฟซบุ๊ก ไลน์ออฟฟิศเชียล รวมถึงแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่พร้อมให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจประกันชีวิตมีความห่วงใยต่อสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน สำหรับผู้มีประกันชีวิตและประกันสุขภาพอยู่แล้ว ขอให้มั่นใจได้ว่าจะยังคงได้รับความคุ้มครองทุกกรณี ตามจำนวนผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิตและ/หรือสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับประโยชน์จากการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และให้ได้ประโยชน์สูงสุดในสถานการณ์ดังกล่าวนั้น ขอให้ผู้เอาประกันภัยทุกท่านตรวจสอบสถานะกรมธรรม์ของท่านให้ยังมีผลบังคับใช้อยู่เสมอ และระมัดระวังคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการแอบอ้าง และนำไปสู่การหลอกลวงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

ต่อมาในช่วงตอบคำถาม นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาฯ คปภ. ได้เปิดเผยถึงกรณีการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม ว่า ในตอนต้นที่ คปภ. ร่วมกับ 4 บริษัทเข้าพื้นที่ เราได้หารือแล้วว่าสิ่งที่เราต้องการคือ รายชื่อ เลขบัตรประชาชน หรืออะไรก็ตาม ที่สามารถพิสูจน์ตัวตนเขาได้ โดยยังเชื่อว่าทุกคนยังมีโอกาสมีชีวิตอยู่ แล้วจะมาดูอีกทีว่าเขามีการประกันภัยที่ไหน จำนวนเงินเท่าไหร่ คปภ. จะเข้าไปดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด
ถ้าหลังจากเราทราบแล้ว มีฐานข้อมูลของเรา ก็จะเอาฐานข้อมูลนี้ไปวิ่งตามบริษัทประกันภัย ถ้ามี เป็นไปตามเงื่อนไขทุกประการ ผู้ประกันภัยต้องได้รับการชดใช้ตามที่เขาซื้อไว้ สำหรับเรื่องไทม์ไลน์ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปซ่อมแซมอาคารนั้น ถ้าไม่ทำมันจะถล่ม อันนี้ไม่ต้องรอ ถ่ายรูปหลักฐานทุกอย่างเอาไปแจ้งบริษัทประกันภัยว่า ต้องดำเนินการแล้วได้เลย เป็นเหตุฉุกเฉิน แล้วดำเนินการเร่งด่วนไปก่อน

ด้าน ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้กล่าวว่า เรื่องของกรมธรรม์ประกันภัย เรื่องของการก่อสร้าง มันคุ้มครองอยู่ 3 หมวด ในกรณีนี้ มีการซื้อความคุ้มครองในเรื่องของตัวโครงสร้าง หรือ ตัวโปรเจ็กต์ มีความคุ้มครองอยู่ที่ 2,136 ล้านบาท และมีความคุ้มครองในเรื่องของพร็อพเพอร์ตี้ที่ใช้ในการก่อสร้าง 5 ล้านบาท และความคุ้มครองส่วนที่ 3 คือ ความคุ้มครองความเสียหายส่วนบุคคลภายนอก อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท โดยปกติแล้วการคุ้มครองคนงาน หรือพนักงานของผู้ประกอบการเอง มันจะเป็นคนละสัญญากัน ซึ่งในกรณีนี้ ไม่ได้มีในโครงการในสัญญาหลักกับบริษัททั้ง 4 อาจจะมีกับที่อื่นซึ่งตนไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงระยะเวลาในการสำรวจโครงการและการชดเชยกรณีผู้เสียชีวิต นายสมพร สืบถวิลกุล เผยว่า ระยะเวลาในการทำการเซอร์เวย์ มันขึ้นอยู่กับทางเจ้าของโครงการ และข้อกฎหมาย เพราะหลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุในลักษณะแบบนี้ คนที่เข้าไปดำเนินการคนแรกเลยคือ หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการเสียชีวิต หน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรก

หลังจากนั้นธุรกิจประกันภัยจะเข้าไปดำเนินการต่อไป และหลาย ๆ เรื่องที่ทางหน่วยงานรัฐมีการสำรวจแล้วอย่างชัดเจน ธุรกิจประกันภัยก็มักจะใช้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐนั้นเป็นฐานในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ในกรณีที่เป็นการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกรมธรรม์กับที่หนึ่งที่ใด ก็จะชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการเสียชีวิตในกรณีนี้ และถ้าตกลงกันได้ หาทายาทเจอ และมีการส่งเอกสารครบถ้วนแล้ว จริง ๆ แล้วบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายภายใน 15 วั ถ้าเกิน 15 วันจะเข้าเงื่อนไขประวิง

นายชูฉัตร ประมูลผล พูดเสริมอีกว่า การก่อสร้างก็จะมีการซับคอนแทรคไปเรื่อย ๆ นิติบุคคลที่เข้าไปรับซับคอนแทรค หรือคอนแท็กใด ๆ ถ้ามีประกันภัยที่ไหนเกี่ยวกับลูกจ้าง รีบติดต่อสำนักงาน คปภ. ได้ หรือแจ้งไปยังบริษัทประกันภัยที่รับเอาประกันภัยไว้ได้ทันที เพราะถ้าเป็นการรักษาพยาบาล จะได้ดูแลได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม หากแจ้งบริษัทประกันภัยแล้ว ก็สามารถแจ้งมายัง คปภ. ได้ด้วย จะได้ช่วยดูแล   รวมเบอร์สายด่วนทุกบริษัทประกันภัย

 

ดร.สมพร อธิบายละเอียดเกี่ยวกับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภท ได้แก่ 
>>ที่มาข่าว : MSN

  1. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย
  2. ประกันภัยสำหรับอาคารชุด
  3. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับสถานประกอบการและร้านค้า
  4. ประกันภัยความเสี่ยงทรัพย์สิน (Industrial All Risk)
  5. ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption)
  6. ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Construction All Risk)
  7. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และ
  8. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ
ในส่วนของ ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Construction All Risk) ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก โดย ดร.สมพร อธิบายด้วยว่า กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง หรือที่เรียกว่า Construction All Risk (CAR) เป็นประกันภัยสำหรับผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้ความคุ้มครองต่องานก่อสร้าง งานปรับปรุงสถานที่ งานตกแต่ง หรืองานติดตั้งเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย รวมถึงแผ่นดินไหว

กรมธรรม์ประเภทนี้แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 3 ส่วนหลัก

 1. ความคุ้มครองงานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธาโดยตรง
     คุ้มครองความเสียหายของตัวงานก่อสร้าง เช่น โครงสร้างอาคาร วัสดุก่อสร้าง โดยกำหนดทุนประกันภัยเป็นมูลค่าโครงการทั้งหมด ความคุ้มครอง ณ ขณะที่เกิดเหตุจะขึ้น         อยู่กับความคืบหน้าของการก่อสร้าง ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นไปตามสัญญาการจ่ายเงินค่างวดงานก่อสร้าง

2. ความคุ้มครองเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง
    คุ้มครองความเสียหายของเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ใช้ในการก่อสร้างและติดตั้งในโครงการ

3.ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
  คุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของบุคคลภายนอก และความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานก่อสร้าง

โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้างให้ความคุ้มครองถึงแผ่นดินไหวด้วย อาจมีหรือไม่มีวงเงินจำกัดความรับผิดขึ้นอยู่กับแต่ละสัญญาประกันภัย อย่างไรก็ตาม มักจะมีข้อยกเว้นในเรื่องของการออกแบบที่ผิดพลาด (Faulty Design) การใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบและพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำประกันภัยของโครงการอาคาร สตง. ที่ถล่ม ดร.สมพร กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีการทำประกันภัยในลักษณะของการก่อสร้าง หรือที่เรียกว่า Construction All Risk (CAR) มูลค่ารวม 2,136 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าโครงการก่อสร้างทั้งหมด โดยมีบริษัทประกันภัย 4 แห่งที่ร่วมกันรับประกันภัย ได้แก่

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันสัดส่วน 40%
บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันสัดส่วน 25%
บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันสัดส่วน 25%
บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันสัดส่วน 10%

"ผมขอย้ำว่า ทั้ง 4 บริษัทประกันภัยที่ร่วมรับประกันโครงการนี้ล้วนเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยได้มีการจัดทำประกันภัยต่อ (Reinsurance) ไว้อย่างครบถ้วนตามหลักการบริหารความเสี่ยงที่ดีของธุรกิจประกันภัย ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลว่าบริษัทประกันภัยจะไม่สามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ หรือจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัท"

กรมธรรม์ประกันภัยนี้แบ่งความคุ้มครองเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้
1.ความคุ้มครองโครงสร้างหรือตัวโปรเจ็ค: มูลค่า 2,136 ล้านบาท ซึ่งเป็นความคุ้มครองสำหรับตัวงานก่อสร้างอาคาร โครงสร้าง และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
2.ความคุ้มครองทรัพย์สินที่ใช้ในการก่อสร้าง (Pre-existing Property): มูลค่า 5 ล้านบาท คุ้มครองเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง
3. ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก: มูลค่า 100 ล้านบาท คุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง

การประเมินมูลค่าความเสียหายจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของโครงการ ณ ขณะที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ว่าการก่อสร้างได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดและมีมูลค่าเท่าใด จากข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มีการรายงานว่าโครงการมีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 46-60% ของโครงการทั้งหมด

กรมธรรม์นี้มีส่วนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง (Deductible) อยู่ที่ 20% ของความเสียหาย ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีการประเมินมูลค่าความเสียหายแล้ว บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหลังจากหักส่วนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ยังตอบคำถามถึงประเด็นที่มีการตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐาน และการก่อสร้างไม่ตามสเปคจะต้องจ่ายเงินประกันหรือไม่ โดยอธิบายบนหลักการกว้างๆว่า  การออกแบบที่ผิดพลาด หากมีการพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการออกแบบที่ไม่เหมาะสมหรือผิดพลาด อาจเข้าข่ายข้อยกเว้นในกรมธรรม์ รวมทั้งการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน หากมีการใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็อาจเข้าข่ายข้อยกเว้นเช่นกัน และการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม หากมีการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบหรือหลักการทางวิศวกรรมที่ถูกต้อง ก็อาจเป็นข้อยกเว้นในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
"ประเด็นเหล่านี้จะต้องมีการตรวจสอบและพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เป็นการตัดสินโดยบริษัทประกันภัยเพียงฝ่ายเดียว"

งานแถลงข่าว มาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 

 

คปภ. แจ้งเตือนนายหน้าประกันภัย ห้ามใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัย
ชี้หากตรวจสอบพบกระทำความผิด โทษหนักถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต 

 | ประกันภัยวิศวกรรม                 |ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน              | ประกันอัคคีภัยสำหรับบ้านอยู่อาศัย     | ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ

| ประกาศกฏกระทรวง   |กฏหมายควบคุมอาคารสูง     |กฎหมายก่อสร้าง    |พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้